How to ลาออก ยังไงไม่ให้บ้านบึ้ม

How to ลาออก ยังไงไม่ให้บ้านบึ้ม
Photo by Tim Cooper / Unsplash

ใช่ครับ ผมเพิ่งลาออกจากทีม แต่สำหรับผมที่ทำงานมาหลายที่ นี่น่าจะเป็นการลาออกที่สำหรับผมมัน Properly หรือภาษาผมเรียกว่า บ้านไม่บึ้ม ที่สุดละ เลยอยากจะบันทึกเก็บไว้หน่อย เพราะตอนจุดที่ผมตัดสินใจออกน้องในทีมก็ถามเหมือนกันว่ามันต้องยังไงบ้าง แต่เอาจริงๆ เรื่องแบบนี้ก็ไม่เคยมีใครสอนแหะ ผมจะข้ามสเต๊ปการตัดสินใจหรือเหตุผลว่าจะลาออกไปเลยนะครับ เพราะแต่ละคนน่าจะไม่เหมือนกัน ณ จุดนี้คือ ออกแน่ๆ ละ มาดูกันว่าต้องผ่านอะไรบ้าง

⏰ The clock start ticking

หลังจากที่เราตัดสินใจลาออกแล้ว ผมว่าช่วงที่ยากที่สุดคือวินาทีที่เราเริ่มนับนี่แหละครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับเราว่าอยากใช้เวลานับถอยหลังแค่ไหนก่อนเราจะไป บางคน 2 สัปดาห์ บางคน 1 เดือน บางคน 3 เดือน สำหรับผมคิดว่า 1 เดือนนี่กำลังดีเพราะมากพอที่เราจะมีเวลา Wrap up หลายๆ อย่าง แต่ก็ไม่นานเกินไปจนเรารู้สึกเบื่อไปก่อน แล้วถ้าถามว่านับตั้งแต่เมื่อไร เอาจริงๆ คือนับตั้งแต่วันที่เราบอกคนที่รับผิดชอบเราและเพื่อนร่วมทีมเราว่าจะออกครับ นับตั้งแต่วินาทีนั้นแหละครับ ซึ่งจะพาเรามาสู่หัวข้อที่สอง

💌 How to give a resign message

ในบรรดาขั้นตอนทั้งหมดตลอด 1 เดือน นี่คือจุดที่อึดอัดที่สุดและโล่งใจที่สุดครับ ไม่ว่าเราจะออกด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จุดนี้คือจุดที่เราตัดสินใจร่ำลากัน ซึ่งคำแนะนำกว้างๆ ของผมคือ ให้เลือกใช้คำที่มันชัดเจนที่สุด ไม่ต้องอ้อมหรือชักแม่น้ำทั้งห้าครับ นี่คือจุดที่เราตัดสินใจ วินาทีที่เราพูดหรือพิมพ์แล้วกด Enter ไปแล้วนั่นแหละ เราเลือกที่จะตัดสินใจแล้วครับ

อีกคำแนะนำคือให้เวลาคนที่เราจะคุยด้วยซึมซับ Message ด้วยครับ ไม่ใช่จะออกเดี๋ยวนี้ ต้องคุยเดี๋ยวนี้เลย จะบินแล้วโว้ย ไม่ได้ครับๆ ถ้าให้อีกฝ่ายเลือกเวลาจะช่วยให้เค้ามีเวลาคิดอะไรมากขึ้น แต่อย่างที่บอกครับ เวลาเริ่มนับตั้งแต่วินาทีที่เรากด Enter ไปแล้วนั่นแหละ

ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการถามเหตุผลตามมาหรือขอฟีดแบคตามมาแทบจะ 100% ณ จุดนี้ ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีวิถีทางของตัวเองครับ ว่าอยากจะบอกเหตุผลหรือไม่บอก อยากจะซัดหน้าแม่งหรืออยากจะคุยกันดีๆ สำหรับผมคือบอกไปหมดเลยครับ คุยกันดีๆ เพราะอย่างน้อย เราได้พูดอย่างที่เราอยากพูดไปหมดแล้ว แล้วเราจะไม่มีสิ่งที่คาใจอยู่อีกเลย

อ่อและสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมเลยในการสนทนาคือ วันสุดท้ายที่เราจะทำงานกับทีมครับ เพราะเค้าจะได้เริ่มคิดถึงการหาคนมาทดแทนเราได้ หรือเริ่ม process ในการลบ Credentials ต่างๆ ออกจากระบบว่าต้องเสร็จเมื่อไรครับ

อีกอย่างนึงคือ การคุยกันอาจจะมีมากกว่าหนึ่งรอบครับ ก็ใจแข็งๆ ไว้นะครับ ช่วงนี้อึดอัดที่สุดละ แต่ถ้าผ่านไปได้ ที่เหลือไม่มีอะไรยากแล้วครับ

🌥 Lower your light

พอผ่านขั้นตอนแรกมาแล้ว ขั้นตอนต่อมาจะใช้เวลายาวนานหน่อยหรือก็คือตลอดช่วงเวลาที่เรานับถอยหลังอยู่ คือเราต้องค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองในทีมลงครับ ซึ่งของพวกนี้ต้องค่อยๆ ให้ทีมซึมซับไป ในขณะเดียวกันเราเองก็ต้องปรับพฤติกรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  • เวลา Meeting ถ้าเราเป็นคนที่ออกความเห็นบ่อย หรือมีคน Engage มาหาเราบ่อย สิ่งที่เราต้องเริ่มทำเวลานี้คือ หาตัวตายตัวแทนครับ แรกๆ Message มันจะเข้ามาหาเราอยู่ดี เราต้องคอยเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่า เราต้องให้คนที่อยู่ข้างๆ เรา Step up ขึ้นมารับแล้วนะ ในกรณีที่เค้าไม่เคยรับ
  • เวลามีน้องมาถามว่าทำนู้น ทำนี่ดีมั้ย ทำไงต่อดีพี่ สิ่งที่เราทำได้คือบอกน้องไปตามตรงว่า “พี่ไม่อยู่แล้วนะ ตัดสินใจเองเลย” แรกๆ น้องอาจจะไม่ชิน เพราะของมันเคยทำมาหลายเดือน จังหวะนี้อาจจะมีหลุดมาถามบ้าง ก็อาจจะช่วยตัดสินใจบ้าง ขึ้นอยู่กับเรา แต่พยายามอย่ามากเกินไปครับ

ถ้าเราเป็นคนนึงที่รู้สึกว่ามีความรับผิดชอบเต็มมือ แล้วพอเริ่มปล่อยมือแล้วมันเหงาๆ เบื่อๆ ก็ทำใจร่มๆ ไว้นะครับ ถ้าเรายังต้องทำแบบเดิมอยู่นั่นคือการทำร้ายทีมแบบตั้งใจเลยครับ ผมบอกได้แค่ว่า just let it go ซึ่งถ้ารู้สึกแบบนั้นจริงๆ คำแนะนำผมคือ เริ่มศึกษางานใหม่ไว้ก่อนเลยก็ดีนะครับ ว่าควรจะต้องรู้อะไรบ้าง ถ้าสมมติงานที่เราทำมันต่างไปจากเดิมทั้ง Business และ Tech จะช่วยลดความเบื่อลงไปได้บ้างครับ แต่สิ่งสำคัญคือ เรายังทำงานกับทีมปัจจุบันอยู่ เพราะฉะนั้นเคารพเวลาที่เราทำงานกับทีมตามที่ตกลงกันไว้ด้วยก็พอครับ

พอเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทีมจะเริ่มเรียนรู้แล้ว การตัดสินใจต่างๆ หรือความรับผิดชอบต่างๆ มันจะค่อยๆ ลดลงไปจากเราเองครับ แต่แน่นอนว่านั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่เราทำใช่มั้ยครับ มันจะต้องมีบางอย่างเสมอที่เรารู้และเป็นมุมมองของเรา ซึ่งจะพาเรามาสู่หัวข้อถัดไป

📚 Setting up your replacement to win

ผมได้ไอเดียนี้มาตอนอ่าน Designing Your Work Life ตอนช่วงหนึ่งเดือนสุดท้ายนี่แหละครับ ซึ่งไอเดียของมันคือ ถ้าเรามีโอกาสได้คุยกับคนที่จะเข้ามาแทนที่เรา เราอยากจะบอกอะไรเค้า อาจจะดูเหมือนยาก แต่จริงๆ แล้วสำหรับผมสนุกมากครับ เพราะตอนเราเขียนมันจะมีความรู้สึกแบบปรารถนาดี อยู่ในข้อความเราโดยอัตโนมัติ แล้วความรู้สึกของการได้ช่วยใครซักคนที่จะมารับช่วงต่อจากเรานี่ ผมบอกได้เลยว่ามันเติมเต็มจิตใจมากครับ ถึงเราจะไม่เคยเจอหน้า หรือไม่มีโอกาสที่จะได้เจอเค้าก็ตาม

ซึ่งเอาจริงๆ เหมือนขั้นตอนนี้น่าจะใช้เวลานาน แต่ผมใช้เวลา 1 วันเต็มๆ เขียนก็เสร็จแล้วครับ หัวข้อที่เขียนอันนี้แล้วแต่เราเลยว่าเราอยากให้เค้ารู้อะไรบ้างตัวอย่างที่ผมเขียนจะมี

  • ทีมนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง
  • อะไรคือความรับผิดชอบเรา
  • สิ่งที่เราต้องทำในแต่ละวัน
  • ช่องทางการติดต่อสื่อสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับทีม
  • Key Person ในทีมหรือที่เราต้องติดต่อด้วยมีใครบ้าง
  • แหล่งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานที่เราทำจะไปหาได้ที่ไหน
  • สิ่งที่เราต้องรู้ ถ้าจะทำงานให้ได้ดีเช่น เทคโนโลยีที่เราใช้หรือ Architecture ของงาน

คำแนะนำอีกอย่างผมคือ พยายามเขียนในแบบที่เราอยากอ่านครับ แล้วเราจะเขียนมันออกมาได้ดีเอง พอเขียนเสร็จแล้วเราก็ฝากไว้กับคนที่เราคุยด้วยตอนแรกนั่นแหละครับ เพื่อให้เค้าส่งต่อให้คนที่มาแทนเราต่อไป

🌻 The Final Gratitude

ผมเชื่อว่าหลายคนจะทำสิ่งนี้ในวันสุดท้าย ซึ่งผมก็ทำวันสุดท้ายเหมือนกัน เรียกได้ว่าไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายด้วย ผมบอกได้เลยว่ามันคือความทรงจำดีๆ สุดท้ายที่เราจะสามารถมอบให้กับทีมได้ครับ เพราะหลังจากนี้ปัญหาหรืออะไรต่างๆ ที่เป็นความทรงจำไม่ดี มันไม่ได้ตามเราไปด้วย เพราะฉะนั้นใช้เวลาให้คุ้มค่าครับ

คำแนะนำผมคือ อย่าไปคิดสดเอาหน้างานครับเพราะยิ่งเราทำงานกับทีมมานาน ความทรงจำเราจะเยอะมาก ถ้าเป็นไปได้ก็นึกๆ ไว้บ้างอาจจะไม่ถึงขนาด นึกมาตลอดทั้งเดือน แต่ให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราพูดออกไป เราจะไม่รู้สึกเสียดายว่า ทำไมกรูไม่พูดเรื่องนี้ไปว้าาา แค่นั้นแหละครับ แล้วมันจะเป็นช่วงเวลาที่ดีและเราจดจำไปอีกนานเลย

และสิ่งที่อยากจะย้ำอีกอย่างคือ หลายครั้งจุดนี้มันเป็นแค่การจากลากันชั่วคราวครับ หลังจากนี้อีก 2 ปี 5 ปี 10 ปี สุดท้ายเราอาจจะวนเวียนกลับมาได้ทำงานกับหนึ่งในคนที่เรากล่าวลากันในวันนี้ก็รักษาน้ำใจกันไว้ดีๆ นะครับ


หมดแล้วครับ กว่าจะมาถึงวันสุดท้าย ผมหวังว่าคำแนะนำผมจะมีประโยชน์กับคนอื่นบ้างนะครับ 👋