มือสมัครเล่นเมธอด

มือสมัครเล่นเมธอด

จุดเริ่มต้นของบล็อกนี้มันมาจากรูปข้างบนครับ มันเป็นประโยคที่แฟนผมถามวันนั้นแล้วทำให้ผมคิดอะไรได้บางอย่าง คือต้องบอกว่าผมเป็นคนที่มีงานอดิเรกผ่านมา แล้วผ่านไปในชีวิตเยอะมาก ลองไล่ๆ ดูเอาเฉพาะไม่กี่ปีมานี้ตั้งแต่ Skateboard, Flight Sim, Racing Sim, Keyboard, PC Building, เรื่อยมาจนถึง Car Detailing คือมันเยอะมาก แล้วพอมามองย้อนดูดีๆ ผมสังเกตุเห็นรูปแบบของการเรียนรู้ของตัวเองชัดมาก เดี๋ยวผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟัง

Passion มันบังคับกันไม่ได้

จั่วหัวอย่างแรกเลยวิธีนี้ใช้กับเรื่องที่เป็นความอยากจาก External Factor ไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็สำหรับผมนะ ความอยากจาก External Factor ยกตัวอย่างเช่น จะไปสอบ Something หรือเป็นสิ่งที่คนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเองสั่งมาเช่น “พี่อยากได้ … ไปดูมาให้หน่อย” อะไรแบบนี้เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุเห็นได้ชัดจากประสบการณ์ตัวเองคือ ของที่เราจะเรียนรู้ได้ยาวนานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย มันต้องเป็นของที่ผุดขึ้นมาจากความอยากรู้ อยากทำด้วยตัวเองจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น “ผมอยากให้รถของผมมันดูเงาเหมือนใหม่อยู่ตลอดเวลา” หรือ “ผมอยากจะทำ Kickflip ให้ได้ซักครั้ง” ความอยากที่ชัดเจนจากภายในตัวเองแบบนี้มันจะโผล่มาแว็บๆ ตลอดเวลาครับ

สิ่งที่มันต่างจาก “ความอยาก” อื่นๆ คือมันกลับมาในใจมากกว่าหนึ่งครั้ง บางทีมันเกิดจากความอยากทำแต่จังหวะ มันไม่ได้ แล้วพอเหมือนจังหวะมันจะมาอีกแล้วมันกลับมาอีกรอบ แสดงว่า “ความอยาก” นั้นมันมีความแข็งแรงพอที่จะไปต่อละ

รู้ว่าเราชอบเรียนแบบไหน

ผมเป็นคนเกลียดการอ่านหนังสือสอบครับ ผมนับครั้งในชีวิตได้เลยว่าผมอ่านหนังสือก่อนสอบแบบจริงๆ จังๆ กี่ครั้ง หลายครั้งในชีวิตผมจะลงเองด้วยการเล่นเกมในคืนก่อนสอบ แล้วไปอ่านเอาหน้าห้องเอา แต่ผมค้นพบมานานแล้วว่าผมชอบโมเม้นตอนกำลังเรียนอยู่มากสุด แล้วผมจำไม่ได้แล้วว่าผมได้ยินประโยคนี้มาจากใคร แต่มันยึดติดเป็นหลักชีวิตผมมานานมากว่า “ถ้าตลอดทั้งเทอมไม่ตั้งใจเรียน แล้วมาตั้งใจอ่านหนังสือแค่วันก่อนสอบ มันจะมีประโยชน์อะไร” (disclaimer: ผมก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนตลอดหรอก แต่ผมสนุกตอนเรียนเยอะอยู่)

พอเรารู้ตัวแบบนี้แล้ว ผมก็พาตัวเองไปอยู่ในโลกของเรื่องที่จะเรียนรู้แบบอัตโนมัติเลยครับ ซึ่งบางครั้งมันก็ตามมาติดๆ จากตัวที่จุดประกายความอยากเราแต่แรก ต้องขอบคุณการจัดหมวดหมู่ของห้องสมุดตั้งแต่สมัยเรียนเรื่อยมาจนถึง Recommendation system ของ Youtube เลยที่ทำให้เรื่องเดียวกันมันโผล่มาเติมเต็มตลอด ซึ่งบางครั้งมันก็คือจุดเดียวกับที่จุดประกายความอยากรู้มาตั้งแต่แรกนั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่นคลิปข้างล่างใน Youtube น่าจะเป็นคลิปล้างรถคลิปแรกๆ ที่ผมดู หลังจากนั้นมันก็พาเพื่อนมาเพียบเลยในหมวด Auto Detailing

ถ้าถามว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่านี่เป็นวิธีเรียนรู้แบบที่เราชอบ คำตอบคือ ถ้ามันเป็นอะไรที่เราทำได้ตลอด ทำโดยที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำตั้งแต่ตื่นมาจนนอน ทำโดยที่ไม่รู้สึกตัวว่ากำลังทำอยู่ เราอินอยู่กับเรื่องที่เราสนใจมากจนเราลืมไปแล้วว่าเรากำลังศึกษามันอยู่ นั่นแหละครับคือคำตอบ

The learn-practice-validate loop

Learn - Practice - Validate Loop

ถ้าใครรู้สึกคุ้นๆ มันคือ loop เดียวกับ Lean เลยครับ โดยแบ่ง Stage การเรียนรู้ของเราเป็น 3 stage หลักๆ

  • Learn — เป็น stage ที่เรากำลังหาคำตอบให้กับตัวเองว่าเราไม่รู้อะไรอยู่ แล้วก็หาทางเติมเต็มมัน
  • Practice — พอรู้สึกว่ามีเครื่องมือครบมือละ พอจะมีความรู้ละก็ได้เวลาลองของจริง
  • Validate — หลายครั้งพอลองเสร็จก็จะรู้สึกขัดๆ ก็กลับไปลองเทียบกับสิ่งที่รู้มาว่าพลาดอะไรไป

แต่ถามว่า ตอนที่กำลังอินกับเรื่องอะไรอยู่นี่คิดถึง loop อะไรแบบนี้มั้ย ก็ไม่นะครับ แต่มันออกมาแบบธรรมชาติเลย ไม่ค่อยได้คิดถึงหรอกครับ มันจะมาของมันเองเดี่ยวผมยกตัวอย่างให้ฟังจากการล้างรถเองครั้งแรก

Stage ของการล้างรถ

Learn

ตอนผมรู้ตัวแล้วว่าผมอยากล้างรถแต่ผมไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไงบ้าง ต้องใช้อะไรบ้างก็ค่อยๆ สะสมความรู้ไปเรื่อยๆ จนรู้ Stage ออกมาเป็นภาพข้างบน นี่ยังไม่นับ Practice หลายอย่างเช่น อย่า Swirl ให้เช็ดแบบ Straight direction หรือ Two bucket method หรือการเลือกใช้ brush กับแต่ละส่วน ผมบอกได้เลยว่าตอน Learn นี่แหละสนุกมาก เพราะความเป็นไปได้มันไม่มีที่สิ้นสุดมาก

Practice

อันนี้อยากโน๊ตไว้นิดนึงว่า บางครั้งเวลาผมอินกับอะไร ผมก็ไม่มาถึง Stage นี้เพราะแค่ Learn อย่างเดียวก็สนุกแล้ว หรือติดขัดเรื่องงบประมาณ แต่ถ้าเป็นเรื่องล้างรถมันมาถึงตรงนี้ได้ไวเพราะของครบเร็ว แต่ทุกครั้งเลยตั้งแต่พยายามทำ Ollie ครั้งแรกๆ, เขียนโค้ดครั้งแรกในภาษาใหม่หรือทำโฟมล้างรถครั้งแรก มันจะไม่ราบรื่นเหมือนที่เราเรียนมา ตรงนี้เอาจริงๆ ก็เป็นจุดที่สนุกมากที่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่หลายครั้ง “มันไม่ง่ายเหมือนที่ดูมาเลย” แต่ก็พยายามพาตัวเองไปจนจบให้ได้

Validate

ต่อจากขั้นลอง มันจะมีหลายครั้งที่มันจะเอ๊ะ อะไรบางอย่างติดในใจ อะไรที่ในหัวข้อที่แล้วคือ “มันไม่ง่ายแบบที่คิด” แล้วผมก็พยายามมาวนดูสิ่งที่เราเรียนใหม่ เทียบกับสิ่งที่เราทำว่าพลาดอะไรไป ความสนุกของขั้นนี้คือ บางครั้งเราก็ทำพลาดอะไรโง่ๆ ไปไม่รู้ตัวเช่น ปัดเท้าเบาไปตอนกระโดดขึ้นไป Ollie หรือใช้เวลาล้างรถนานเกินไปจนน้ำเริ่มแห้งก่อนเช็ดละ ไอของที่คาใจพวกนี้พอเรา Practice ครั้งถัดๆ ไปมันจะดีขึ้นนะ

จริงๆ validate มีอีก aspect นึงที่ผมใช้บ่อยคือ Show your work ครับ ต้องบอกว่ามันจะเหมือนขี้อวดหน่อยๆ แต่เวลาอวดแล้วเราจะได้ฟีดแบคกลับมาด้วย ซึ่งอันนี้แหละมีค่ามาก

รถผมเงามากครับ อวดๆ

ทำสิ่งเล็กๆ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

เคยได้ยิน Snowball effect มั้ยครับ มันคือการที่เราทำอะไรเล็กๆ หลายๆ อย่างเพื่อพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า เหมือนกับก้อนหิมะที่ค่อยๆ กลิ้งลงจากภูเข้าแล้วเก็บหิมะระหว่างทางให้ตัวเองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พอถึงตีนเขาก็กลายเป็นหิมะก้อนใหญ่ที่พร้อมซัดหน้าคนที่ขวางทาง ผิดๆ จริงๆ มีอีก analogy นึงที่คนใช้กันเยอะคือ Momentum ครับ ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่ามี progress อยู่ แล้วเรา keep progressing ต่อไปเราก็ค่อยๆ ใกล้เป้าหมายใหญ่เราเอง

2 analogy ที่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อที่จะบอกว่า ถ้าเราตั้งใจจะรู้ทุกอย่างให้ได้ตั้งแต่แรกเลย มันเหนื่อยครับ แต่ถ้าเราค่อยๆ Breakdown มันออกมาหลังจากเราเริ่มจะ “รู้ว่าเราไม่รู้อะไร” มันจะช่วยให้เราค่อยๆ สนุกกับ Progression ที่เพิ่มขึ้นเอง ถามว่าผมรู้มั้ยว่าล้างรถเนี่ยมันต้องมีขั้นตอนเยอะขนาดนั้นแต่แรก ก็ไม่ ผมรู้แค่ว่าเอาน้ำมาเช็ดๆ ก็น่าจะใหม่แล้ว แต่พอเห็นภาพกว้างว่าเออมันมีขั้นตอนอยู่นะ ก็ค่อยๆ แบ่งตัวเองไปดูทีละเรื่อง ดูว่าจะล้างล้อมันทำไงนะ, จะทำโฟมทำไงนะ, จะเช็ดกระจกยังไงนะ พอเป้าย่อยๆ มันโดนเก็บเราจะรู้สึกเองว่าเป้าใหญ่มันค่อยๆ เป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วย

ถ้าไม่สนุกแล้วก็เลิก ไปทำอย่างอื่นเถอะ

อย่างสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงคือ เวลาเรามีจำกัดครับถ้าอะไรที่ทำแล้วมันไม่รู้สึกสนุกแล้วก็เลิกทำเถอะ แล้วไปทำอย่างอื่น เหมือนอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าเล่มนี้อ่านไม่เข้า อ่านไม่มันเลย ก็เลิกอ่านเถอะ โลกนี้ยังมีอย่างอื่นให้ทำอีกเยอะ ดีกว่าเสียเวลาทำในสิ่งที่ไม่อยากทำครับ และสำคัญที่สุดในหลายๆ ครั้งมันไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลวครับ


ประมาณนี้ครับ ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องที่เราอยากรู้มันบังคับกันไม่ได้ แต่ถ้าเราเจอมันแล้วก็ go with the flow ครับ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรายังสนุกกับมันอยู่รึเปล่า ถ้าไม่สนุกแล้วก็ไปทำอย่างอื่นเถอะครับ ก็ประมาณนี้ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ครับ